วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สัญญาซื้อขาย


          สัญญาซื้อขาย
                    สภาพและหลักสำคัญของสัญญาซื้อขาย (ม.453) มีดังนี้
                    1. เป็นนิติกรรมประเภทหนึ่ง   โดย
                        (1)  คู่สัญญาจะต้องมีความสามารถในการทำสัญญา      
                        (2)   มีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน
                         (3)  วัตถุประสงค์ในการทำสัญญาจะต้องไม่เป็นการพ้นวิสัย  หรือ ขัดต่อกฎหมาย หรือ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ (ม.150)
                                  คำพิพากษาฎีกาที่ 1876/2542  วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ระหว่างโจทก์กับจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายเป็นโมฆะตาม ม. 150 แล้ว การที่โจทก์ชำระเงินค่าซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ต้องด้วย ปพพ.บรรพ 1 ลักษณะ 4 ว่าด้วยลาภมิควรได้ ซึ่งตาม ม. 411 ระบุถึงกรณีที่บุคคลใดได้ชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี บุคคลนั้นจะเรียกร้องทรัพย์สินคืนไม่ได้  ดังนั้นโจทก์ไม่อาจเรียกเงินคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้. 
                                คำพิพากษาฎีกาที่  2786/2515  โจทก์รู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ของจำเลย  แต่เป็นป่าสงวนแห่งชาติซึ่งไม่อาจโอนแก่กันได้  แต่โจทก์ก็ยังซื้อและชำระเงินค่าที่ดินให้จำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลย
                             (4) การแสดงเจตนาในการทำสัญญาจะต้องไม่เกิดจาก กลฉ้อฉล การข่มขู่  หรือ การสำคัญผิด
                    2. เป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง
                          คำพิพากษาฎีกาที่  2331/2516  ผู้ขายที่ดินมีหน้าที่จดทะเบียนเพื่อให้การซื้อขายสมบูรณ์และมีผลทำให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปยังผู้ซื้อ  และมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินให้ผู้ซื้อโดยกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง  อันจะเป็นผลให้ที่ดินอยู่ในเงื้อมมือของผู้ซื้อ ด้วย.....
                    3. มีวัตถุของสัญญาเป็นทรัพย์สิน  
                    4. ต้องมีการตกลงว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กัน 5. ต้องมีการตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินให้แก่กัน
                    - สำหรับราคาที่จะต้องชำระให้แก่กัน ก็จะต้องชำระเป็นเงินตราเท่านั้น
                           คำพิพากษาฎีกาที่  6420/2539  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 487  หมายความว่า  คู่สัญญาซื้อขาย ไม่จำต้องกำหนดราคาซื้อขายทรัพย์แน่นอนตายตัวในขณะทำสัญญา  แต่อาจตกลงราคากันอย่างใดก็ได้ หรือ จะปล่อยให้เป็นไปตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจะให้เป็นไปตามราคาท้องตลาด ณ เวลาใดก็ได้
                   
                    ประเภทของสัญญาซื้อขาย  แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
                     1. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด(สัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์)(ม.455,ม.456)  มีประเด็นพิจารณา   ดังนี้  
                      ก)  ความหมายของสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
                                    หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญากันเสร็จเด็ดขาดในรายละเอียดแห่งสัญญาแล้วทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวทรัพย์สินที่ซื้อขายกัน  หรือ ราคาที่ต้องชำระ   โดยไม่ต้องไปทำอะไรอีก    แม้จะยังมิได้ชำระราคากันจริง ๆ หรือ ยังมิได้ส่งมอบทรัพย์สินกัน  หรือ แม้ยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์เพราะยังไม่ทำตามแบบ ก็ตาม
                     ข) ประเภทของทรัพย์ที่จะทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
                              - อาจเป็นอสังหาริมทรัพย์(ม.139) หรือ สังหาริมทรัพย์ (ม.140) ก็ได้
                                - ซึ่งในการทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดนั้น
                         1)  หากเป็นการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ใน ม.456 ว.1(อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ )– จะต้องทำตามแบบ
                         2) หากเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดามีราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป...* - จะต้องมีหลักฐานดังต่อไปนี้ คือ
                            (1) มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับผิดเป็นสำคัญ  หรือ
                               (2) มีการวางประจำ(มัดจำ)  หรือ
                               (3) มีการชำระหนี้บางส่วน
                    3. ผลของการทำสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด (ม. 458)  แยกพิจารณาได้  ดังนี้  
                                1) หากเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในสังหาริมทรัพย์ธรรมดา    -  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นโอนไปยังผู้ซื้อในทันที่ที่ได้มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายกัน (ไม่ต้องทำตามแบบ)
                                 คำพิพากษาฎีกาที่ 779/2482   การซื้อขายรถยนต์นั้น  เมื่อผู้ขายกับผู้ซื้อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458   ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าจะต้องทำพิธีอย่างมาตรา  456  ส่วนการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์  พ.ศ. 2522 หมวด 1 ก็เป็นบทบัญญัติเพื่อสะดวกแก่การควบคุมของเจ้าพนักงานเท่านั้น
                            2) หากเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดในอสังหาริมทรัพย์ หรือ สังหาริมทรัพย์พิเศษ    กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นจะโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการทำตามแบบแล้ว
                                คำพิพากษาฎีกาที่ 1700/2527   วินิจฉัยว่าเมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่พิพาทจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  การซื้อขายย่อมเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อในทันทีเมื่อได้ทำสัญญากัน  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458  การชำระราคาที่ดินเป็นเพียงข้อกำหนดของสัญญาเท่านั้น หาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
                    2 )  คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะฟ้องร้องบังคับคดีให้ปฏิบัติตามสัญญาที่เป็นโมฆะไปแล้วไม่ได้  //
                                คำพิพากษาฎีกาที่  746/2516  ซื้อขายโคจากโจทก์โดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาและไม่ได้จดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  การซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้จำเลยชำระราคาโค
                    3 )  หากมีการให้ทรัพย์แก่กันไปแล้ว   - ต้องคืนทรัพย์แก่กันฐานลาภมิควรได้
                    (ม. 172 ว.2)
                          คำพิพากษาฎีกาที่  366/2508  สัญญาซื้อขายเรือตกเป็นโมฆะเพราะไม่ทำตามแบบ  เงินซึ่งผู้ขายได้รับไว้ตามสัญญานั้นก็เป็นลาภมิควรได้  ซึ่งผู้ซื้อจะต้องฟ้องเรียกคืน....
                   
                    สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอาจเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ ดังนี้
                     1)  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ชนิดที่มีผลสมบูรณ์(โดยกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว  และคู่สัญญาไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกต่อไป)
                     2)  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ชนิดที่มีผลสมบูรณ์(โดยกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้ว แต่คู่สัญญายังมีหนี้ที่จะต้องชำระต่อกันอีกต่อไป)
                                คำพิพากษาฎีกาที่  1700/2527  เมื่อโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่พิพาทและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว  การซื้อขายย่อมเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายโอนไปยังผู้ซื้อทันที่เมื่อได้ทำสัญญากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 การชำระราคาทรัพย์สินที่ซื้อขายเป็นเพียงข้อกำหนดของสัญญาเท่านั้นหาใช่สาระสำคัญที่จะทำให้สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์
                    3)  สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด ชนิดที่มีผลไม่สมบูรณ์ (ตกเป็นโมฆะ) โดยกรรมสิทธิ์ไม่โอนไปยังผู้ซื้อ (แม้จะมีการชำระราคาและส่งมอบทรัพย์สินกันแล้วก็ตาม)
                                คำพิพากษาฎีกาที่  9624/2509 สัญญาซื้อขายมีใจความชัดแจ้งว่าคู่กรณีมีเจตนามุ่งซื้อขายที่ดินกันเด็ดขาด  ไม่มีข้อความใดแสดงว่าคู่สัญญามีเจตนาจะไปจดทะเบียนกันในภายหลัง  สัญญานี้ไม่ใช่สัญญาจะซื้อขาย  แต่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่ตกเป็นโมฆะ
                                 คำพิพากษาฎีกาที่  2894/2522  สัญญาซื้อขายบ้าน  ผู้ขายตกลงขนย้ายของออกเพื่อส่งมอบบ้านแก่ผู้ซื้อ  ไม่มีข้อตกลงจะจดทะเบียนโอน  จึงเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  เมื่อไม่จดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ
                   
                    ผู้ซื้อและผู้ขาย
                         - ผู้ซื้อ – เป็นใครก็ได้ที่มีความสามารถตามกฎหมาย
                         - ผู้ขาย - เป็นใครก็ได้ที่มีความสามารถในการเข้าทำสัญญาและผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่กฎหมายให้อำนาจทำการขายทรัพย์สินได้
                   
                    ผู้ที่จะเป็นผู้ขาย  ได้แก่บุคคล  ดังต่อไปนี้
                      1)  เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น (ม.1336)
                       2)  ตัวแทนในการขายทรัพย์สิน  (.797)
                      3)  บุคคลอื่นที่กฎหมายให้อำนาจขายทรัพย์สินนั้นได้   ได้แก่
                               ก)  ผู้ใช้อำนาจปกครอง   ผู้ปกครอง  หรือ ผู้อนุบาล
                                ข)  ผู้จัดการมรดก
                             ค)  เจ้าพนักงานบังคับคดี (ป.วิ.พ.ม.278)
                             ง)  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
                              จ)  เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจัดการกับของที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด   
                                    อาญา (.1327)  
                              ฉ)   ผู้ขายเดิม (.470)
                    หลัก    “ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน” ...
                              - หากผู้ซื้อได้ซื้อทรัพย์สินจากผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของ  หรือ จากผู้ที่ไม่มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย  ผลที่ตามมาก็คือ แม้ผู้ซื้อนั้นจะสุจริต แต่ผู้ซื้อนั้นก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น
                                        คำพิพากษาฎีกาที่ 74/2470  วินิจฉัยว่า ซื้อของจากผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าของ  และเป็นผู้ไม่มีอำนาจขายตามกฎหมายนั้น  แม้ผู้ซื้อจะได้รับชื้อไว้โดยสุจริต  ก็หาได้กรรมสิทธิ์ที่จะยึดเอาของนั้นไว้ได้ไม่
                                        คำพิพากษาฎีกาที่ 1440/2479  วินิจฉัยว่า ซื้อที่ดินจากผู้ไม่มีอำนาจขาย  แม้จะเป็นการซื้อโดยสุจริต  ผู้ซื้อก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่  ผู้ซื้อจะมีอำนาจก็เพียงแต่ฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้ไม่มีอำนาจขาย 
                                       คำพิพากษาฎีกาที่ 776/2477  วินิจฉัยว่า เช่าเรือเขามาแล้วเอาไปขายให้ผู้ซื้อ  แม้ผู้ซื้อจะซื้อไว้โดยสุจริต ก็หาได้กรรมสิทธิ์ในเรือนั้นไม่  เจ้าของเดิมมีสิทธิติดตามเอาเรือคืนได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน
                                       คำพิพากษาฎีกาที่ 199/2495  วินิจฉัยว่า ซื้อเรือมาดไว้จากผู้ที่ยักยอกเจ้าของมา  แม้จะซื้อโดยสุจริตก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์  เจ้าของย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้
                                        คำพิพากษาฎีกาที่ 353/2503  วินิจฉัยว่า  ถ้ามีการปลอมใบมอบอำนาจให้ทำการขายฝากที่ดิน  ผู้รับซื้อก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์     ผู้รับซื้อจะอ้างว่าเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตไม่ได้  เพราะผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์   การโอนย่อมมีไม่ได้
                   
                    ข้อยกเว้น หลัก ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
                    ได้แก่กรณี ดังต่อไปนี้ 
                    1) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.1299 วรรค 2    
                                 เช่น  ค.ได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินมีโฉนดของ ข. มาเป็นเวลา 10 ปี  โดยสงบ เปิดเผย  และ เจตนาเป็นเจ้าของ  จน ค.ได้กรรมสิทธิ์โดยผลของกฎหมาย (ตามมาตรา 1382)  แต่ ค.ยังไม่ทันได้ไปจดทะเบียนการได้กรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1299  วรรคสอง  ข. ก็ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นขายให้แก่ ก.   ซึ่ง ก. ได้ซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้โดยสุจริต (คือไม่ทราบว่า ค.ได้ครอบครองที่ดินแปลงนั้นจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว) และ ก. ก็ได้เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนการได้มาด้วยการซื้อจาก ข. โดยสุจริตอีกด้วย  ดังนี้ถือว่า ก.ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการจดทะเบียน...  โดย  ค. จะมาฟ้องขับไล่ ก.ไม่ได้ 
                           คำพิพากษาฎีกาที่  2422/2532  โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ก่อนที่ ก.จะขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย  แต่เมื่อโจทก์ได้ที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  และยังมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  โจทก์จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคลภายนอกผู้ได้สิทธินั้นมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299   วรรคสอง
                    2) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.1303   
                                  เช่น  ก.ทำสัญญาซื้อทีวีจาก ข.เครื่องหนึ่ง โดย ก.ได้ชำระราคาทีวีเครื่องนั้นให้แก่ ข.แล้ว  แต่ยังไม่ได้รับมอบทีวีจาก ข.  ดังนี้ ก.ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทีวีเครื่องนั้นไปแล้ว   ต่อมาขณะที่ทีวียังอยู่ในความครอบครองของ  ข. ปรากฏว่า  ข.ได้เอาทีวีเครื่องนั้นขายต่อไปให้ ค.  โดยที่ ค.ได้ซื้อไว้โดยสุจริต    และ ค.ได้รับมอบการครอบครองทีวีจาก ข. มาแล้ว
                                  จากตัวอย่างนี้  หากทั้ง ก. และ ค.ต่างโต้แย้งกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทีวีเครื่องนั้น  โดย ก.ได้อ้างว่าตนได้ทำการซื้อทีวีเครื่องนั้นจาก ข.มาก่อน  และได้กรรมสิทธิ์ในทีวีเครื่องนั้นไปแล้ว   ส่วน ค.ก็อ้างว่าตนได้ซื้อทีวีเครื่องนั้นเช่นกัน  และตนได้ครอบครองทีวีไว้แล้ว 
                                หากมีกรณีโต้เถียงกันเช่นนี้  ผลตามกฎหมายคือ  แม้  ค. จะซื้อทีวีจาก ข.ผู้ไม่มีสิทธิในทีวีเครื่องนั้นแล้ว (เพราะ กรรมสิทธิ์ในทีวีเป็นของ ก.ไปแล้ว)  แต่เนื่องจาก ค.ได้ซื้อโดยสุจริต ได้รับมอบและเข้าครอบครองทีวีนั้นแล้ว   ดังนี้ ค.ย่อมมีสิทธิดีกว่า ก.  โดย ค.จะได้กรรมสิทธิ์ในทีวีเครื่องนั้นไป
                    3) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.1329     
                                เช่น  ข.ผู้เยาว์ ขายวิทยุเครื่องหนึ่งให้แก่ ก.ผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ในราคา  5,000 บาท   โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดาของ ข.ผู้เยาว์  ดังนี้ นิติกรรมการซื้อขายระหว่าง ข.ผู้เยาว์ กับ ก. ตกเป็นโมฆียะ  ต่อมา ก.ขายวิทยุเครื่องนั้นให้แก่ ค. ซึ่ง ค. ได้ซื้อวิทยุเครื่องนั้นไปโดยสุจริต และ ค.ได้ชำระราคาวิทยุเครื่องนั้นไปแล้ว
                              ต่อมา บิดาของ ข.ผู้เยาว์ทราบเรื่องจึงได้มาบอกล้างนิติกรรมกรรมการซื้อขายในครั้งแรกระหว่าง ข.ผู้เยาว์กับ ก. ซึ่งผลของการบอกล้างคือนิติกรรมการซื้อขายระหว่าง ข.ผู้เยาว์ กับ ก. ตกเป็นโมฆะ  คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เท่ากับว่า ก. ผู้ซื้อก็ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในวิทยุนั้นแต่อย่างใด  ดังนั้น ก. จะไม่สามารถทำนิติกรรมการขายวิทยุเครื่องนั้นให้แก่ ค.เป็นครั้งที่ 2 ได้ อีก
                                แต่จากตัวอย่างนี้ เนื่องจาก ค. เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน  ดังนั้น กฎหมาย (ม.1329) ได้ให้ความคุ้มครอง ค.  โดยให้ถือว่านิติกรรมการซื้อขายระหว่าง ก. กับ ค. สมบูรณ์   โดย ค.ยังมีกรรมสิทธิ์ในวิทยุเครื่องนั้นอยู่  แม้  ค.จะซื้อวิทยุจาก ก.ผู้ไม่มีอำนาจขายวิทยุเครื่องนั้นแล้วก็ตาม (เพราะนิติกรรมการซื้อขายในครั้งแรกตกเป็นโมฆียะและถูกบอกล้างแล้ว  ซึ่งมีผลทำให้  ก.ไม่มีกรรมสิทธิ์ในวิทยุนั้นนั่นเอง)
                    4) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.1330
                            เช่น   ค.เอารถยนต์ของตนมาฝากไว้กับ ข.   ต่อมา ข.ถูกศาลพิพากษาให้เป็นผู้ล้มละลาย  และถูกยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล   แต่ปรากฏว่าทรัพย์ที่ถูกยึดไปมีรถยนต์ของ ค.ที่ฝาก ข.ไว้รวมอยู่ด้วย    และในการขายทอดตลาดทรัพย์นั้น ก.เป็นผู้ประมูลซื้อรถยนต์คันดังกล่าวได้ 
                              ดังนี้ผลตามกฎหมายคือ ก.ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น  แม้ต่อมา ค.จะพิสูจน์ได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของตนไม่ใช่ของ ข.ผู้ล้มละลายก็ตาม ทั้งนี้เป็นไปตาม ม.1330
                    5) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.1332    
                                    เช่น   ก.ได้ซื้อนาฬิกาเรือนหนึ่งมาจากร้านขายนาฬิกาแถวบ้านหม้อ   หรือ  ก.ได้ประมูลซื้อนาฬิกาเรือนนั้นมาจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  เป็นเงิน 10,000 บาท 
                                 ดังนี้  ก.ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในนาฬิกาเรือนนั้น   แม้จะปรากฏในภายหลังว่านาฬิกาเรือนนั้นถูกขโมยมาก็ตาม  โดย ก.ไม่จำต้องคืนนาฬิกาเรือนนั้นให้แก่เจ้าของที่แท้จริงแต่อย่างใด  ยกเว้นเจ้าของที่แท้จริงยอมชดใช้ราคาที่  ก.ซื้อมาเป็นเงิน 10,000 บาท   ดังนี้ ก.ต้องคืน นาฬิกาเรือนนั้นให้แก่เจ้าของที่แท้จริงไป
                    6) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.155 วรรคแรก
                                เช่น  ข.ลูกหนี้สมรู้กับ ก.ทำนิติกรรมขายรถยนต์ ให้กับ ก.หลอก ๆ เพื่อลวง ค.เจ้าหนี้ของ ข. ทั้งนี้เพื่อมิให้ ค. เจ้าหนี้ของ ข. มายึดรถยนต์ไปขายทอดตลาด  ดังนี้ สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะเพราะเป็นการแสดงเจตนาลวง  โดย ถือว่า  รถยนต์ยังเป็นของ ข.ไม่ถือว่ารถยนต์เป็นของ ก.แต่อย่างใด
                              แต่จากตัวอย่างนี้ หาก ก.ได้นำรถยนต์ไปขายต่อ ให้กับ ง.ผู้ซื้อโดย ง. สุจริต ดังนี้  ง. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้น ถึงแม้ว่า ง.จะได้ซื้อรถยนต์จาก ก. ผู้ขายที่ไม่มีสิทธิที่จะโอนก็ตาม
                    7) ข้อยกเว้นตาม ปพพ.ม.821   
                                เช่น  ข. นำแหวนเพชรของ ค. ออกขายให้ ก.โดยอ้างว่าตนเป็นตัวแทนของ ค.  ซึ่ง ค. ก็ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วไม่ทักท้วงแต่อย่างใด  ซึ่งจากตัวอย่างนี้ถ้า ก.ได้ซื้อแหวนเพชรวงนั้นไว้โดยสุจริต และ ได้ชำระราคาแหวนเพชรให้กับ ข.ไปแล้ว  
                             ดังนี้ ก.ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในแหวนเพชรวงนั้น แม้ว่า ก.จะได้รับโอนแหวนเพชรวงนั้นมาจาก ข. ซึ่งไม่ใช่ผู้มีสิทธิในแหวนเพชรวงนั้น และ ข. ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของ ค. เจ้าของที่แท้จริงก็ตาม


5 ความคิดเห็น: