วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สัญญายืม

สัญญายืม
บทที่  1
ข้อความทั่วไป

          สัญญายืมเป็นสัญญาที่ถูกใช้มากมายตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นการยืมสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ  เช่น  ยืมรถยนต์  นาฬิกา  แว่นตา  ยางลบ  ปากกา  ดินสอ  หรืออาจเป็นการยืมสัตว์พาหนะ  เช่น  ยืมช้าง  ม้า  วัว  ควาย  หรือการยืมทรัพย์สินอื่น ๆ  เช่น  ยืมแก้วแหวน  เงิน  ทอง   เป็นต้น  ซึ่งประโยชน์ของการยืมทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นที่จะใช้ทรัพย์สิน  ได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นตามความประสงค์  ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเอื้อเฟื้อมีน้ำใจไมตรีที่ดีต่อกัน  ซึ่งในการให้ยืมทรัพย์สินกันนั้นส่วนใหญ่ก็จะไม่มีการเรียกค่าตอบแทนในการให้ยืมทรัพย์สินกันแต่อย่างใด  โดยเฉพาะการให้ยืมทรัพย์ที่เป็นการยืมตามสัญญายืมใช้คงรูป  แต่ในบางกรณีการให้ยืมทรัพย์สินก็อาจเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะของค่าตอบแทนได้เช่นกัน  เช่นการให้กู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยจากผู้ยืมของผู้ให้ยืมที่เป็นทั้งบุคคลธรรมดา  และนิติบุคคลที่เป็นสถาบันการเงินต่าง ๆ  ซึ่งสิทธิในการเรียกดอกเบี้ยของผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา  กับสถาบันการเงินก็จะเรียกได้ในอัตราที่แตกต่างกันออกไป
          ในเรื่องการยืมทรัพย์สินกันโดยเฉพาะปัจจุบันการกู้ยืมเงิน  มีปัญหาข้อพิพาทไปสู่ศาลกันเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเกิดจากการที่คู่สัญญาขาดความเข้าใจหลักเกณฑ์ของกฎหมายในเรื่องนี้ดีพอ  หรืออาจจะเกิดจากการไว้เนื้อเชื่อใจกันเพราะเห็นว่าเป็นคนคุ้นเคยสนิทสนมกันดี  หรืออาจจะไม่คาดคิดว่าจะเกิดปัญหาหรือเกิดความเสียหายขึ้นจากการทำสัญญายืมได้  ดังนั้นจึงไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายในเรื่องนี้เท่าไรนัก  ซึ่งผลจากการที่คู่สัญญาขาดความเข้าใจหรือไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายในเรื่องนี้เท่าที่ควรก็คือเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมาจริง ๆ  แล้ว  ในบางครั้งก็อาจจะเป็นการยากที่จะแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนดีได้เช่นเดิม
          ดังนั้น  เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องมีการยืมหรือให้ยืมทรัพย์สินกันแล้ว  สิ่งสำคัญที่คู่สัญญาควรที่จะต้องกระทำก็คือควรจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักกฎหมายในเรื่องนี้ให้ดีพอเสียก่อน  ว่าหากตนเองได้เข้าไปผูกพันตามสัญญายืมแล้ว  ตนเองในฐานะคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะเกิดสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายและตามสัญญาอย่างไรบ้าง  ทั้งนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติตนได้ถูกต้องตามกฎหมายและตามสัญญาและที่สำคัญจะได้ไม่เกิดความเสียหายขึ้นได้อีกต่อไป
          ในการศึกษาถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามสัญญายืมนั้น  นอกจากจะต้องศึกษาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ในบรรพที่  3  ลักษณะที่  9  แล้วยังจะต้องศึกษาถึงบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการกู้ยืมเงิน  ซึ่งได้แก่  พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา  พ.ศ. 2475  พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์  พ.ศ.  2505  พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ของสถาบันการเงิน  พ.ศ. 2523  พระราชบัญญัติการเล่นแชร์  พ.ศ. 2534  และประมวลรัษฎากร  เป็นต้น
          สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นได้มีการกำหนดถึงสาระสำคัญ  เกี่ยวกับสิทธิ  หน้าที่  ความรับผิด  และความระงับของสัญญายืมไว้ในบรรพที่  3  ลักษณะที่  9  ว่าด้วยเรื่องการยืม  ตั้งแต่มาตรา  640 - 656  รวมทั้งสิ้น  17  มาตรา  ซึ่งสัญญายืมนั้นจัดเป็นเอกเทศสัญญา  
          ในการบังคับใช้กฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  เกี่ยวกับสัญญายืมนั้นนอกจากจะบังคับตามบทบัญญัติของ  บรรพที่  3  ลักษณะที่  9  ว่าด้วยเรื่องการยืมแล้ว ยังจะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะต่าง ๆ  ในบรรพที่  1  และ  2  ที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้กับสัญญายืมอีกด้วย  ได้แก่ หลักในเรื่องนิติกรรม  ทั้งนี้เพราะสัญญายืมเป็นนิติกรรม  2  ฝ่าย  หลักในเรื่องหนี้เพราะสัญญายืมย่อมก่อให้เกิดหนี้ขึ้นตามกฎหมาย  และนอกจากนั้นยังจะต้องนำหลักกฎหมายที่เป็นบททั่วไปในบรรพที่  1  และ  2 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับอีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ  เจตนาของคู่สัญญา  ความสามารถในการทำนิติกรรม  และวัตถุประสงค์ในการทำนิติกรรม  สัญญายืมนั้นจึงจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
          สัญญายืมทรัพย์สินนั้นก็สามารถแบ่งออกได้เป็น  2  หมวด  คือ  สัญญายืมใช้คงรูป  และสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

บทที่  2
สัญญายืมใช้คงรูป

            1  หลักสำคัญของสัญญายืมใช้คงรูป  เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  640  และ  มาตรา  641  ที่ว่า
          มาตรา  640  อันว่ายืมใช้คงรูป  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม  ให้อีกบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ยืม  ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า  และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
          มาตรา  641  การให้ยืมใช้คงรูปนั้น  ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
          จากบทบัญญัติดังกล่าว  พอสรุปได้ว่าหลักสำคัญของสัญญายืมใช้คงรูปมี  4 ประการ  คือ
                        1.1  ต้องมีวัตถุของสัญญาเป็นทรัพย์สิน  กล่าวคือวัตถุตามสัญญายืมใช้คงรูปนั้นอาจจะเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างก็ได้  โดยทรัพย์นั้นจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะยืมทรัพย์ที่เป็นสังหาริมทรัพย์  ได้แก่  การยืมของใช้  เช่น  รถยนต์  นาฬิกา  แว่นตา  แหวนเพชร  สร้อยคอ  การยืมสัตว์พาหนะ  เช่น  ช้าง  ม้า  วัว  ควาย ฯลฯ  แต่สำหรับทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นการจะยืมหรือใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวของผู้อื่นก็น่าจะต้องเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน บ้านเรือน  สิทธิอาศัย   หรือสิทธิเก็บกิน  ฯลฯ  ส่วนการยืมทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง  ได้แก่  ลิขสิทธิ์  สิทธิบัตร  หรือสิทธิในเครื่องหมายการค้า  เช่น  การยืมลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมเพื่อไปพิมพ์ในหนังสืองานวันเกิด  หรือในหนังสืองานศพ ฯลฯ 
                        1.2  ต้องเป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทน  เพราะถ้าหากมีค่าตอบแทนก็อาจจะกลายเป็นสัญญาอย่างอื่นได้  เช่น  เป็นสัญญาเช่าทรัพย์ตามมาตรา  537  ไปไม่ใช่สัญญายืมแต่อย่างใด[1]  แต่เนื่องจากสัญญายืมเป็นสัญญาที่ผู้ยืมมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินของผู้ให้ยืมโดยไม่เสียค่าตอบแทน  (ตามมาตรา  640)  ดังนั้นจึงมีผลทำให้
                     1.2.1  ผู้ให้ยืมต้องพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยืมเป็นพิเศษว่าควรให้ยืมทรัพย์นั้นได้หรือไม่  โดยจะต้องพิจารณาว่าผู้ที่จะมายืมทรัพย์ของตนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความระมัดระวังรักษาทรัพย์ที่ยืมได้เป็นอย่างดีหรือไม่  ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาจากบุคลิกลักษณะ  อุปนิสัยใจคอ  อาชีพการงานของผู้ยืม  หรือเหตุชอบพออย่างอื่นเป็นการเฉพาะตัวก็ได้  ทั้งนี้เพื่อป้องกันผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ให้ยืม  และนอกจากนั้นหากผู้ยืมตายสัญญายืมก็ระงับด้วยทั้งนี้เพราะสัญญายืมนั้นมุ่งคำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ยืมเท่านั้น  โดยที่ทายาทของผู้ยืมก็ต้องคืนทรัพย์ที่ยืมนั้นให้แก่ผู้ให้ยืมทันทีเพราะตนเองไม่มีสิทธิใช้สอยทรัพย์ที่ยืมนั้นอีกต่อไป  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  648  ที่ว่า
          อันว่ายืมใช้คงรูป  ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม
            ตัวอย่าง  แดงให้เขียวยืมรถยนต์  1  คันเพื่อใช้เดินทางไปทำงาน  เป็นเวลา  2  ปี  แต่พอยืมไปได้  1  ปี  เขียวก็ถึงแก่ความตายลง   ดังนี้เมื่อเขียวถึงแก่ความตายสัญญายืมใช้คงรูปก็ระงับไป  บุตรหรือภริยาของเขียวไม่มีสิทธิที่จะใช้รถคันนั้นอีกต่อไป  โดยจะต้องคืนรถยนต์คันนั้นให้แก่แดงไป  ซึ่งบุตรหรือภริยาของเขียวจะไม่ยอมคืนโดยอ้างว่ายังไม่ครบกำหนดตามสัญญาไม่ได้  
                      1.2.2  ผู้ให้ยืมสามารถส่งมอบทรัพย์สินในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ กล่าวคือแม้ทรัพย์นั้นจะมีความชำรุดบกพร่องผู้ให้ยืมก็ไม่จำต้องซ่อมแซมทรัพย์นั้นให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีก่อนส่งมอบแต่อย่างใด เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ยืมที่จะต้องพินิจพิจารณาว่าตนเองสมควรยืมทรัพย์นั้นมาใช้หรือไม่  ซึ่งแตกต่างจากสัญญาเช่าทรัพย์เพราะการเช่าทรัพย์นั้นผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องซ่อมแซมทรัพย์ที่เช่าให้มีสภาพที่ใช้การได้ดีก่อนส่งมอบให้กับผู้เช่า
          แต่ถ้าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ยืมนั้นมีความชำรุดบกพร่องในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลที่ใช้สอยทรัพย์สินนั้น  และหากผู้ให้ยืมจะได้รู้ถึงความชำรุดบกพร่องนี้แต่ไม่ได้บอกกล่าวให้ผู้ยืมทราบ  ถ้าหากเกิดความเสียหายแก่ผู้ยืมหรือบุคคลภายนอกผู้ใช้ทรัพย์นั้น  ในทางสัญญาผู้ให้ยืมไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการบัญญัติความรับผิดของผู้ให้ยืมในเรื่องนี้ไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไว้แต่อย่างใด  แต่ในทางละเมิดหากผู้ให้ยืมทราบถึงความชำรุดบกพร่องของทรัพย์ที่ยืมว่าอาจเกิดอันตรายขึ้นได้แล้วไม่แจ้งให้ผู้ยืมทราบ  ผู้ให้ยืมก็ยังคงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่ 
            ตัวอย่าง  ขอยืมปืนไปใช้ยิงนก  ลำกล้องปืนร้าว  แต่ผู้ให้ยืมไม่บอกเรื่องดังกล่าวให้ผู้ยืมทราบ  ผู้ยืมได้ใช้ปืนดังกล่าวยิงและลำกล้องปืนแตกทำให้ผู้ยืมได้รับบาดเจ็บ  ผู้ให้ยืมจะต้องรับผิดชอบ1
          สำหรับกรณีที่ผู้ยืมรับทรัพย์ที่ยืมมาในสภาพที่ดีแล้ว  แต่ต่อมาทรัพย์นั้นไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น  ดังนี้ผู้ยืมจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อบุคคลอื่น  ทั้งนี้เพราะผู้ยืมเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ที่ยืม  ตามหลักเกณฑ์ในเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                           1.2.3  ผู้ให้ยืมไม่ต้องรับผิดชอบในการรอนสิทธิในทรัพย์ที่ยืม  เป็นกรณีที่ผู้ให้ยืมไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้ยืม  และต่อมาเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงได้มีการติดตามเอาทรัพย์นั้นคืนไป  (ตาม  มาตรา 1336)  ในขณะที่ผู้ยืมยังใช้สอยทรัพย์นั้นยังไม่เสร็จ  ดังนี้ผู้ให้ยืมก็ไม่จำต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ผู้ยืมไม่สามารถใช้ทรัพย์นั้นได้อีกต่อไป  เว้นแต่จะมีการตกลงให้ผู้ให้ยืมต้องรับผิดในความเสียหายนั้น
            ตัวอย่าง  ดำให้แดงยืมรถยนต์ไปใช้  1  คัน  แต่แดงกลับเอารถยนต์คันนั้นไปให้ขาวยืมไปใช้ในการเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดจันทบุรี โดยไม่บอกให้ดำซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันนั้นทราบ  ต่อมาปรากฏว่าดำมาทราบในภายหลัง  จึงได้ติดตามเอารถยนต์คันดังกล่าวคืนจากขาว  ดังนี้ขาวก็ต้องคืนรถยนต์คันนั้นให้แก่ดำไป  โดยที่ขาวไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แดงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่ตนเองไม่ได้ใช้รถนั้นได้แต่อย่างใด
                        1.3  ต้องไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นวัตถุของสัญญา   ทั้งนี้เพราะจะต้องนำทรัพย์อันเดิมนั้นมาคืนให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว จะนำทรัพย์สินอื่นมาคืนไม่ได้  ดังนี้ย่อมแสดงว่าตลอดระยะเวลาที่ยืมนั้นกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์นั้นยังคงอยู่กับผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์  มิได้โอนไปอยู่กับผู้ยืมตามตัวทรัพย์แต่อย่างใด  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  640  ตอนท้ายที่ว่า
          และผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินนั้น  เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
          จากการที่สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม  ดังนั้น  จึงมีผลทำให้
                         1.3.1  ผู้ให้ยืมไม่จำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้ยืมแต่อย่างใด  แต่ทั้งนี้ผู้ให้ยืมก็ยังมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้  เพราะถือว่าผู้ให้ยืมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้น (คำพิพากษาฎีกาที่  1407/2538)
          ตัวอย่าง  น้ำฝนเช่าหนังสือของน้ำค้างมาอ่าน  1  เล่ม  หากน้ำฝนเอาหนังสือเล่มนี้ไปให้น้ำหวานยืมต่อ  ดังนี้ถือว่าสัญญายืมใช้คงรูประหว่างน้ำฝนและน้ำหวานนั้นสมบูรณ์ทุกประการ  โดยน้ำหวานมีหน้าที่ที่จะต้องส่งคืนหนังสือเล่มดังกล่าวคืนแก่น้ำฝน  และหากต่อมาเมื่อถึงกำหนดส่งคืนน้ำหวานจะปฏิเสธไม่ยอมคืนโดยอ้างว่าน้ำฝนไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหนังสือเล่มนั้นไม่ได้  ถ้าน้ำหวานไม่ส่งคืนให้  น้ำฝนก็มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกให้น้ำหวานส่งคืนหนังสือให้ตนตามสัญญาได้  แม้ว่าน้ำฝนจะไม่ใช่เจ้าของหนังสือเล่มนั้นก็ตาม 
            คำพิพากษาฎีกาที่  1407/2538  เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพย์พิพาทไม่ใช่ทรัพย์ของโจทก แต่เป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่โจทก์ขอยืมมาแล้วให้นายทองเจือลูกจ้างของโจทก์ยืมไปอีกต่อหนึ่ง  ดังนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในทรัพย์พิพาทรายนี้  เมื่อทรัพย์นี้ไปตกอยู่กับจำเลยโดยไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของ  โจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิครอบครองย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือเอาไว้ได้
                      1.3.2  ผู้ให้ยืมยังคงต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์ที่ยืมอยู่  ทั้งนี้เพราะในขณะที่ผู้ยืมครอบครองทรัพย์สินที่ยืมอยู่  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นก็ยังคงเป็นของผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์อยู่  ผู้ยืมมีสิทธิเพียงได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น  ซึ่งหากเกิดความสูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพย์ในช่วงระหว่างที่มีการยืมทรัพย์ไปนั้นโดยไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ยืม  ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ  หรือเหตุสุดวิสัย  ก็ตามผลคือบาปเคราะห์ต่าง ๆ  ย่อมตกเป็นพับแก่ผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  219  วรรคหนึ่ง
            ตัวอย่าง  ม่วงให้ฟ้ายืมรถยนต์ไปคันหนึ่งเพื่อจะใช้ขับไปเที่ยวที่จังหวัดระยอง  ในระหว่างทางที่ใช้รถยนต์คันดังกล่าว  ฟ้าก็ขับรถยนต์ด้วยความระมัดระวังอย่างปกติ  แต่ปรากฏว่าได้เกิดฝนตกฟ้าคะนองและฟ้าได้ผ่าลงมาที่รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายทั้งคัน  ดังนี้ฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์คันนี้แต่อย่างใด 
                      1.4  สัญญาจะบริบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์  กล่าวคือ  เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์อันเป็นวัตถุของสัญญา  สัญญายืมใช้คงรูปก็จะครบถ้วนบริบูรณ์และมีผลทำให้คู่สัญญามีสิทธิและหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในสัญญาและกฎหมายทุกประการ  โดยไม่จำเป็นต้องทำหลักฐานการยืม  หรือสัญญายืมเป็นหนังสือแต่อย่างใด  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  641  ที่ว่า
          การให้ยืมใช้คงรูปนั้น   ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
          ส่วนกรณีที่ยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  สัญญานั้นไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  150  เพียงแต่ยังไม่สามารถใช้ได้  ซึ่งจะมีผลทำให้คู่สัญญายังไม่เกิดสิทธิหน้าที่ตามสัญญายืมเท่านั้น   
          การส่งมอบทรัพย์ที่ยืมไม่ใช่หนี้หรือหน้าที่ของผู้ให้ยืม  แต่เป็นเพียงการกระทำของผู้ให้ยืม  เพื่อให้เกิดความบริบูรณ์ในการทำสัญญาเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากสัญญาอื่น ๆ  ที่ความสมบูรณ์แห่งสัญญาอาจเกิดจากการแสดงเจตนาเสนอสนองที่ตรงกัน หรืออาจต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด  ตามมาตรา  152  หรืออาจต้องทำเป็นหนังสือ สัญญาเหล่านั้นจึงจะสมบูรณ์บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย  และนอกจากนั้นในเรื่องการให้ยืมทรัพย์สินนั้นหากมีการตกลงให้ยืมทรัพย์กันแล้ว  ต่อมาผู้ให้ยืมเกิดเปลี่ยนใจไม่ให้ยืมโดยไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ยืม ผู้ยืมก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้มีการส่งมอบทรัพย์ที่ยืม  หรือเรียกค่าเสียหายจากผู้ให้ยืมได้เลย  ทั้งนี้เพราะสัญญายืมยังไม่บริบูรณ์เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ยืมนั่นเอง 
            ตัวอย่าง  ดำตกลงให้ขาวยืมสร้อยคอทองคำของตนหนัก  5  บาท  1  เส้น  โดยบอกว่าให้ขาวมารับสร้อยคอเส้นดังกล่าว  ในอีก  1  สัปดาห์  พอครบกำหนดขาวก็มารับสร้อยคอตามที่ตกลงกัน   แต่ดำเกิดเปลี่ยนใจไม่ยอมส่งมอบสร้อยคอทองคำเส้นดังกล่าวให้ขาว  ดังนี้แม้ขาวจะไม่ได้รับมอบสร้อยคอทองคำเส้นดังกล่าวจากดำตามที่ตกลงกัน  ขาวก็ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้ดำส่งมอบสร้อยให้กับตนได้  หรือจะฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ตนไม่ได้ใช้สร้อยคอทองคำเส้นนั้นได้แต่อย่างใด  และไม่ถือว่าดำผิดสัญญาทั้งนี้เพราะสัญญายืมยังไม่บริบูรณ์เนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์ที่ยืม  
          สำหรับเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญายืมใช้คงรูปนั้น  กฎหมายไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องส่งมอบกันในลักษณะใด  กล่าวคือผู้ให้ยืมจะส่งมอบกันโดยวิธีใดก็ได้ที่มีผลทำให้ผู้ยืมได้เข้าครอบครองและได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ซึ่งการส่งมอบอาจจะมีการส่งมอบกันโดยการยื่นทรัพย์ให้แก่ผู้ยืมโดยตรง  เช่นการส่งมอบหนังสือให้แก่ผู้ยืม  หรืออาจมีการส่งมอบโดยปริยาย  เช่น  มอบกุญแจรถยนต์  หรือกุญแจบ้านที่ยืมให้แก่ผู้ยืม  เป็นต้น
ตัวอย่าง  น้อยให้หน่อยเช่าวีดีโอภาพยนตร์เรื่องหนึ่งไปดูเป็นเวลา  3  วัน  พอครบกำหนดหน่อยจะต้องส่งคืนวิดีโอดังกล่าว แต่หน่อยยังไม่ทันได้ดูวีดีโอภาพยนตร์เรื่องนั้นเลย   และหน่อยต้องการดูภาพยนตร์เรื่องนั้นจึงได้แจ้งไปยังน้อยว่าตนต้องการขอยืมดูต่อไปอีก 2 วัน  น้อยก็ตกลงตามที่หน่อยต้องการ  ดังนี้ถือว่ามีการส่งมอบกันโดยปริยายแล้ว ซึ่งมีผลทำให้สัญญายืมนั้นสมบูรณ์ทันที  โดยไม่จำเป็นต้องให้หน่อยคืนวีดีโอให้แก่น้อยก่อน  แล้วน้อยค่อยมาส่งมอบให้หน่อยอีกครั้งตามที่มีการตกลงยืมกันแต่อย่างใด  และเมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยืมกันแล้ว  สัญญายืมก็เกิดขึ้นทันที่และมีผลบังคับใช้ได้   โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการยืมเป็นหนังสือ   หรือต้องทำเป็นหนังสืออีกแต่อย่างใด  ไม่เหมือนสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง  เช่น  สัญญากู้ยืมเงินเกินกว่า  2,000 บาท ที่มาตรา  653  กำหนดให้ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมนอกจากจะต้องมีการส่งมอบเงินให้แก่กันแล้ว  มิฉะนั้นแล้วจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้1

2.  หน้าที่  ความรับผิดชอบ  และสิทธิของผู้ยืมใช้คงรูป

            2.1.  หน้าที่ของผู้ยืมใช้คงรูป

            ในการทำสัญญายืม  นอกจากผู้ยืมมีสิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแล้ว ผู้ยืมยังมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ 
                        2.1.1  หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ในการยืมทรัพย์  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  642  ที่ว่า
                   ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี  ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดีย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย
                    หน้าที่ประการแรกของผู้ยืมใช้คงรูปคือเสียค่าใช้จ่ายในการทำสัญญาการส่งมอบและการส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม  ซึ่งมีดังนี้
                        ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญา  คือค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้แก่รัฐในการทำสัญญายืม  ขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ายืมอะไรที่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม2
                        ค่าส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม  ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจเป็นค่าขนย้ายทรัพย์ที่ยืมเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ยืมในกรณีที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพย์ที่ยืม  ทั้งนี้เนื่องจากผู้ให้ยืมกับผู้ยืมอาจจะอยู่ต่างท้องถิ่นกัน  หรืออาจเนื่องมาจากทรัพย์สินที่ยืมนั้นตั้งอยู่ ณ สถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่ทั้งที่อยู่อาศัยของผู้ให้ยืมและผู้ยืม  ดังนั้นในส่วนของค่าใช้จ่ายในการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินที่ยืมมาให้แก่ผู้ยืม หากไม่ได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  642
                        ค่าส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม  ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายทรัพย์จากผู้ยืมไปส่งมอบให้แก่ผู้ให้ยืม ในกรณีสัญญายืมระงับไม่ว่าจะระงับโดยวิธีใด และถ้าหากไม่ได้มีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เช่นกัน  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  642
                        ตัวอย่าง  เขียวซึ่งอยู่จังหวัดสงขลา  ยืมของจากขาวที่อยู่จังหวัดสระบุรี  ดังนี้จะต้องมีการขนส่งของจากจังหวัดสระบุรีไปยังจังหวัดสงขลาเพื่อให้เขียวได้ใช้สอยของนั้น  หากไม่มีการตกลงในเรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่งกันไว้   ค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ให้เขียวผู้ยืมจะต้องเป็นผู้เสีย  ส่วนค่าใช้จ่ายในการส่งคืนเขียวก็จะต้องเป็นผู้เสียเช่นกัน

          สำหรับค่าส่งคืนดอกผลของทรัพย์สินที่ยืมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้มีการบัญญัติในเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด  แต่ในเรื่องนี้มีนักกฎหมาย  ( ศาตราจารย์ไผทชิต   เอกจริยากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )  ได้ให้ความเห็นว่าภาระในการเสียค่าใช้จ่ายในการส่งคืนดอกผลของทรัพย์สินที่ยืมน่าจะตกแก่ผู้ให้ยืมทั้งนี้เพราะดอกผลของทรัพย์สินที่ยืมก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์ผู้ให้ยืม ตามมาตรา 1336 และนอกจากนั้นผู้ยืมอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ในดอกผลนี้เลยก็ได้ 
            ตัวอย่าง  เหลืองให้ส้มยืมสุนัขไปเฝ้าสวนของส้ม 1  ตัว  เป็นเวลา  1  ปี  ปรากฏว่าในระหว่างที่ยืม  สุนัขตัวดังกล่าวได้ออกลูกมา  3  ตัว  ดังนี้ถือว่าลูกสุนัขเป็นกรรมสิทธิ์ของเหลือง  เพราะถือว่าเป็นดอกผลที่เกิดจากแม่สุนัข  ซึ่งส้มจะต้องส่งคืนลูกสุนัขทั้ง 3 ตัวให้แก่ส้มไป  โดยให้เหลืองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการส่งคืน

          อนึ่ง  ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น  แม้กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้ยืมเป็นผู้มีหน้าที่เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ตาม  แต่ถ้าหากคู่สัญญามีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  เช่น  ตกลงกันว่าให้ผู้ให้ยืมเป็นผู้ออกค่าฤชาธรรมเนียม   และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  ดังกล่าวทั้งหมด  หรือคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายออกค่าใช้จ่ายดังกล่าวกันคนละครึ่งก็ได้ดังนี้ก็ให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้ได้   ไม่ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
                        2.1.2  หน้าที่ใช้ความระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม  โดยในการใช้ทรัพย์ที่ยืมผู้ยืมจะต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืม  ทั้งนี้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  ที่ว่า
                   ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้นหรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรเอาไว้ก็ดี  ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์นั้นสูญหาย  หรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด  แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง

          จากบทบัญญัติดังกล่าว  หน้าที่ใช้ความระวังในการใช้ทรัพย์สินที่ยืมจึงมี  ดังนี้
            1)  ไม่เอาทรัพย์ที่ยืมนั้นไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์
นั้น  กล่าวคือ  เป็นการใช้ทรัพย์ที่ยืมนั้นตามสภาพทรัพย์ทั่วไปควรจะต้องใช้ทรัพย์นั้นทำอะไร  หากเรายืมทรัพย์นั้นจากผู้อื่นมา  เราก็ต้องใช้ทรัพย์นั้นตามสภาพการใช้งานอย่างนั้น
          ตัวอย่าง  แก้วให้เขียวยืมบ้าน  1  หลัง  เมื่อเขียวยืมบ้านมาแล้วก็ต้องเอาบ้านไปให้คนอยู่อาศัย  จะนำบ้านไปเปิดทำเป็นบ่อนการพนันไม่ได้
                        2)  ไม่เอาทรัพย์ที่ยืมนั้นไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันปรากฏในสัญญา คือหากมีการตกลงหรือทำสัญญากันว่าจะนำเอาทรัพย์นั้นเพื่อไปใช้ทำอะไร  เมื่อยืมมาแล้วก็ต้องใช้ทรัพย์นั้นไปตามที่ได้สัญญาหรือได้ตกลงกันไว้  จะนำไปใช้ทำอย่างอื่นที่ไม่ได้สัญญาหรือตกลงกันไว้ไม่ได้
          ตัวอย่าง  โรจน์ยืมรถของรุจน์ที่กรุงเทพฯ  โดยบอกว่าจะไปธุระที่เพชรบุรี  ดังนี้เมื่อโรจน์ได้รับมอบรถมาก็ต้องขับรถไปทำธุระที่จังหวัดเพชรบุรีตามที่ตกลงกัน  โรจน์จะนำไปใช้ในเส้นทางอื่นซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาไม่ได้
            หรือ  ป้อมยืมวัวจากปุ้ยมา  1  ตัวบอกว่าจะเอาไปใช้เป็นพ่อพันธุ์  ดังนี้ป้อมก็จะนำวัวตัวนั้นไปใช้ไถนาไม่ได้    
            3)  ไม่เอาทรัพย์ที่ยืมนั้นไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  คือผู้ยืมต้องใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้นเอง  จะเอาไปให้บุคคลอื่นใช้สอยไม่ได้  
            ตัวอย่าง  เมฆยืมรถยนต์ของฟ้ามาขับไปทำธุระ  ดังนี้เมื่อได้รับมอบรถยนต์เมฆก็ต้องเป็นผู้ขับรถยนต์คันนั้นเองหรืออาจให้ผู้อื่นขับรถยนต์นั้นก็ได้แต่บุคคลนั้นจะต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถและเมฆจะต้องสามารถควบคุมได้ ดังนี้ก็ยังถือว่าเมฆเป็นคนใช้ทรัพย์นั้นเอง  แต่ทั้งนี้เมฆจะเอารถยนต์คันนั้นไปให้ดำซึ่งเป็นบุคคลภายนอกยืมต่อไม่ได้.
            ในการใช้สอยทรัพย์ที่ยืมนั้น  บางครั้งก็อาจจะต้องดูสภาพของทรัพย์ที่ยืมด้วย  กล่าวคือแม้จะให้บุคคลอื่นใช้สอยทรัพย์ที่ยืมนั้นก็ยังอาจถือว่าผู้ยืมใช้สอยทรัพย์นั้นเองได้
            ตัวอย่าง  แดงให้ดำยืมโต๊ะเก้าอี้สำหรับให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ใช้นั่งเพื่อรับประทานอาหาร  จำนวน  50  ชุด  ดังนี้แม้จะมีคนอื่นมาใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ยืมมานั้นด้วย  ก็ยังถือว่าดำผู้ยืมเป็นผู้ใช้โต๊ะเก้าอี้นั้นเอง

          คำพิพากษาฎีกาที่  1892/2535  จำเลยที่  1  ยืมรถยนต์ของโจทก์เมื่อเวลาประมาณ  10  นาฬิกา  โดยจะส่งคืนในวันรุ่งขึ้นและรับว่าจะไม่ให้คนอื่นยืมต่อ  จนเวลาประมาณ  23  นาฬิกา  จำเลยที่  1  ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่  2  ซึ่งมีอายุ  19  ปีเป็นบุตรผู้เยาว์ของจำเลยที่  3  ที่  4  ไปเที่ยวโดยมีเพื่อนหญิงชายอีกหลายคนไปด้วย  พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราจนถึงเวลา  2  นาฬิกาของวันใหม่  จึงพากันไปนอนที่โรงแรมจนเวลา  4  นาฬิกาเศษ  จำเลยที่  2  ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ออกจากโรงแรมพาเพื่อนหญิงกลับบ้าน  ในระหว่างทางรถยนต์ที่จำเลยที่  2  ขับได้พลิกคว่ำเสียหาย  โจทก์ฟ้องจำเลยที่  2  ที่  3  ที่  4  ฐานละเมิด  ที่จำเลยที่  2  ขับรถของโจทก์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์คว่ำเสียหาย และจำเลยที่  3  และที่  4  ในฐานะบิดามารดามิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลจำเลยที่  2  ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์  แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยที่  1  ตามสัญญายืมมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญายืมแล้วก็ตาม  ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยที่  2  ที่  3  ที่  4  ฐานละเมิดด้วย

            4)  ไม่เอาทรัพย์นั้นไปเก็บไว้นานเกินควร  หมายความว่า  เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  หรือเมื่อครบกำหนดตามที่ตกลงกันไว้  หรือเมื่อเวลาล่วงไปพอสมควรแก่การใช้สอยทรัพย์สินนั้นแล้ว ผู้ยืมจะต้องรีบคืนทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ให้ยืม

            ตัวอย่าง  วิทย์ขอยืมรถวัฒน์มาใช้มีกำหนด  10  วัน  เมื่อครบกำหนด  10  วัน  ก็ต้องรีบคืนแม้วิทย์จะยังไม่ได้ใช้รถนั้นเลยก็ต้องคืนรถแก่วัฒน์ไป  ถ้าไม่คืนก็ถือว่าผิดหน้าที่ของผู้ยืม  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาครา  643
          หากผู้ยืมทำผิดหน้าที่ตามข้อ  1 )  - 4 )  แล้วทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปแม้จะเกิดจากเหตุสุดวิสัย เช่น เกิดโรคระบาด  ฟ้าผ่า  น้ำท่วม  ภัยสงคราม  แผ่นดินไหว้  ไฟไหม้  เป็นต้น  ผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบสลายนั้นด้วย      ซึ่งเหตุที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ยืมต้องรับผิดเช่นนี้ก็เพราะว่าถ้าผู้ยืมใช้สอยทรัพย์ที่ยืมให้ถูกต้อง  ไม่ฝ่าฝืนหน้าที่มาตรา  643  โดยไม่เอาไปให้บุคคลอื่นใช้  ไม่เอาไปไว้นานเกินควร  ไม่ใช้ผิดสัญญา  ไม่ใช้ทรัพย์นอกจาการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์นั้นแล้ว  ทรัพย์สินที่ยืมก็จะไม่สูญหาย  หรือเสียหายแต่  อย่างใด  แต่ในทางกลับกันหากผู้ยืมไม่ได้ผิดหน้าที่ตามข้อ 1 )  - 4 )  แต่ทรัพย์สินนั้นเกิดสูญหายหรือบุบสลายไปเอง  โดยไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ยืม  ดังนี้ผู้ยืมก็ไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด
          ตัวอย่าง  1  ดำให้นิลยืมรถยนต์  1  คัน  เพื่อใช้ในงานบวชนาคลูกชายของนิลที่ต่างจังหวัด ในระหว่างที่ นิลให้รถยนต์คันนี้ตามปกติ  และตามสัญญา  แต่ปรากฏว่าในขณะที่นิลจอดรถเพื่อแวะซื้อเครื่องใช้ในงานบวชนาคที่ร้านค้า  มีรถยนต์คันอื่นมาชนรถยนต์คันที่ยืมมาได้รับความเสียหายโดยไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ขับรถมาเฉี่ยวชน  ดังนี้ดำจะเรียกร้องให้นิลรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนไม่ได้  ทั้งนี้เพราะดำไม่ได้ผิดหน้าที่ของผู้ยืมตาม  ม.  643  แต่อย่างใด
            ตัวอย่าง  2  เทาให้นวลยืมหนังสือนิยายมาอ่านที่บ้านมีกำหนด  7  วัน  แล้วมีเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้นคือ
                   ก)  นวลอ่านไปได้  2  วัน  เกิดไฟฟ้าลัดวงจรที่ข้างบ้านของนวลแล้วไฟนั้นได้ไหม้บ้านนวลทำให้หนังสือที่ยืมมาถูกไฟไหม้ด้วย  ดังนี้นวลไม่ต้องรับผิด
                   ข)  นวลเอาหนังสือที่ยืมไว้ที่บ้านจนถึง  10  วัน  แล้วเกิดเหตุการณ์ตามข้อ  ก)  ดังนี้นวลจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดกับหนังสือที่ยืมมา
                   ในกรณีนี้เว้นแต่นวลจะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรทรัพย์สินนั้น  (หนังสือ)  ก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั้นเอง  เช่น  พิสูจน์ได้ว่าบ้านที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร  บ้านของนวลผู้ยืม และบ้านเทาผู้ให้ยืมเป็นห้องเช่าอยู่ติดกันแล้วเกิดไฟไหม้หมดทั้ง  3  ห้อง  หากพิสูจน์ได้ดังนี้นวลก็ไม่ต้องรับผิดทั้งนี้เพราะแม้ผู้ยืมจะได้คืนหนังสือไปภายในกำหนดแล้วก็ตาม หนังสือก็ยังต้องสูญหายหรือบุบสลาย  (ถูกไฟไหม้)  อยู่นั่นเอง
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3451/2524  โจทก์ในคดีนี้ไม่ได้เป็นเจ้าของรถที่ถูกชน  เพราะโจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมเท่านั้น  ในการยืมใช้คงรูปนั้น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  643  ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่ในกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่น  นอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา  หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  ซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวเลย  และการที่รถที่โจทก์ขับได้รับความเสียหาย ก็มิใช่เป็นเพราะความผิดของโจทก์  หากแต่เป็นความผิดของบุคคลภายนอก  ฉะนั้นโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของทรัพย์  และแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมรถคันที่โจทก์ยืมมาไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม  โจทก์ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้  
                    คำพิพากษาศาลฎีกาที่  526/2529  โจทก์ติดต่อซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อใช้ในราชการ  โดยโจทก์ได้รับรถยนต์จากผู้ขายมาใช้ก่อน  ในวันเกิดเหตุจำเลยยืมรถยนต์คันดังกล่าวจากโจทก์ไปใช้  และเกิดอุบัติเหตุได้รับความเสียหาย  โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญายืมใช้คงรูป  เมื่อรถยนต์คันที่จำเลยยืมไปใช้เกิดความเสียหาย  แม้โจทก์จะได้ชำระค่าซ่อมรถยนต์ให้แก่ผู้ซ่อมหรือเจ้าของรถยนต์นั้นแล้วหรือไม่ก็ตาม  ถือได้แล้วว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปเกิดขึ้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา  55  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คำฟ้องของโจทก์กล่าวว่าจำเลยยืมรถยนต์คันเกิดเหตุไปจากโจทก์ต่อมาเกิดอุบัติเหตุชนกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของบุคคลอื่น  รถยนต์คันดังกล่าวเกิดความเสียหายขึ้นในระหว่างที่โจทก์ดูแลและทดลองใช้อยู่  โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมให้เจ้าของรถแล้ว  จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ ตามคำฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์  
                    2.1.3  หน้าที่ในการสงวนทรัพย์สินที่ยืม  ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  644  ที่ว่า
                    ผู้ยืมจะต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
                   จากบทบัญญัติดังกล่าวนี้หมายความว่า  ผู้ยืมมีหน้าที่ที่จะต้องสงวนทรัพย์สินที่ยืมมาเสมือนคนทั่ว ๆ  ไปเขาสงวนรักษาทรัพย์สินของตนเอง เช่น ยืมวัวเขามาใช้งาน  1  ตัว  ตลอดระยะเวลาที่ยืมคนทั่ว ๆ  ไปเขาก็ต้องคอยดูแล ให้กินอาหารและน้ำ  ไม่ใช้งานหนักเกินไป  เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องรักษา แต่ถ้าหากผู้ยืมเป็นคนมักง่ายกล่าวคือ  วัวที่ยืมมานั้นเจ็บป่วยก็ไม่ยอมรักษาคิดว่าเจ็บป่วยไม่มากอาจหายเองได้  ดังนี้หากวัวนั้นตายไปผู้นั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่าตนเองเคยปฏิบัติต่อวัวของตนเองเช่นนี้เหมือนกันไม่ได้  ทั้งนี้เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ยืมจะต้องปฏิบัติต่อทรัพย์ที่ยืมมาในระดับเทียบเท่าวิญญูชนพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง  ไม่ใช่เทียบเท่าเพียงแค่ระดับของผู้ยืมที่จะพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตนเองแต่อย่างใด  ในเรื่องการรักษาทรัพย์ระดับวิญญูชนพึงสงวนรักษาทรัพย์สินของตนเองนั้น  มีคำพิพากษาฎีกาในเรื่องเช่าทรัพย์ซึ่งพอเทียบเคียงได้  คือ 
          คำพิพากษาฎีกาที่  603/2490  จำเลยเช่าเรือไปใช้  ในคืนฝนตกจำเลยผูกเรือไว้แล้วขึ้นไปนอนบนแพ  เรือถูกคนร้ายลักไป  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังเพียงพอจึงต้องรับผิด 

                        2.1.4  หน้าที่คืนทรัพย์สินที่ยืม  ในเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  640  และมาตรา  646  ที่ว่า
                   มาตรา  640  ผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
                   มาตรา  646  ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้  ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืม  เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้ เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
                   ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้  ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้
                   จากบทบัญญัติดังกล่าว   สรุปได้ว่าผู้ยืมมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืม ดังต่อไปนี้  
                        1)  ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้ยืมเมื่อใช้ทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว  กล่าวคือ  เมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องนำทรัพย์อันเดิมที่ยืมกลับมาคืนให้แก่ผู้ให้ยืม  โดยจะนำทรัพย์สินอย่างอื่นมาคืนแทนไม่ได้ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้น
                        2)  ต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมภายในกำหนดเวลา  ดังนี้

            2.1)  กรณีมีกำหนดระยะเวลาคืน  ต้องคืนทรัพย์เมื่อครบกำหนดระยังเวลาดังกล่าว
            ตัวอย่าง   แก่นให้แก้วยืมรถยนต์ไปใช้  มีกำหนด  15  วัน  ดังนี้พอครบกำหนด 15  วัน  แก้วก็ต้องคืนรถให้แก่แก่นเจ้าของไป
          2.2)  กรณีไม่มีการกำหนดระยะเวลาคืน  ต้องคืนเมื่อได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
            ตัวอย่าง  สดยืมกระบือจากใสมาใช้ไถนาในฤดูการทำนา  หากสดผู้ยืมไถนาเสร็จก่อนพ้นกำหนดฤดูการทำนา  สดก็ต้องรีบส่งคืนกระบือนั้นให้แก่ใสไป  แต่ตรงข้ามหากเลยฤดูการทำนาแล้ว  สดยังไม่ได้ใช้กระบือนั้นไถนาเลย  ดังนี้ใสผู้ให้ยืมก็มีสิทธิเรียกกระบือคืนได้  ทั้งนี้เพราะถือว่าเวลาได้ล่วงไปพอแก่การใช้ทรัพย์นั้นแล้ว  
          2.3) กรณีที่ไม่มีการกำหนดว่าจะคืนเมื่อใดและไม่ปรากฏในสัญญาว่าจะยืมไปใช้เพื่อการใด  ดังนี้ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนทรัพย์นั้นเมื่อใดก็ได้  คือสามารถเรียกคืนได้ทันทีเมื่อมีความประสงค์จะเรียกทรัพย์คืน  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 646  วรรคสอง
            ตัวอย่าง  น้ำเงินให้เหลืองยืมสร้อยคอทองคำและเข็มขัดนากไปใช้อย่างละ  1  เส้น โดยไม่มีกำหนดเวลาส่งคืน  และก็ไม่ทราบว่าเหลืองจะนำทรัพย์เหล่านั้นไปใช้เพื่อการใด  ดังนี้หากน้ำเงินผู้ให้ยืมต้องการทรัพย์เหล่านั้นคืนน้ำเงินก็สามารถเรียกคืนเมื่อใดก็ได้  และไม่จำเป็นต้องให้เหลืองได้ใช้สอยทรัพย์นั้นก่อนแต่อย่างใด  ทั้งนี้เนื่องจากเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดเวลาคืน  ไม่ทราบวัตถุประสงค์ในการยืม  และที่สำคัญเหลืองผู้ยืมก็มีทรัพย์สินที่ยืมอยู่ในความครอบครองของตนอยู่แล้ว
          ส่วนสถานที่ที่จะส่งคืนทรัพย์ที่ยืมก็ต้องคืน   สถานที่ที่กำหนดไว้ในสัญญา  เช่น ตกลงกันให้ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์สินที่ยืมไว้แก่ผู้ใด  สถานที่ใด  ดังนี้ก็ให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้  หรืออาจมีการตกลงกันว่าให้ผู้ให้ยืมไปนำทรัพย์สินที่ยืมนั้นกลับคืนจากผู้ยืมเองก็ได้  แล้วแต่จะตกลงกัน  แต่ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก็ต้องคืน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อหนี้  เพราะถือว่าทรัพย์ตามสัญญายืมใช้คงรูปเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  324  ที่ว่า
          เมื่อมิได้มีแสดงเจตนาไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าจะพึงชำระหนี้   สถานที่ใดไซร้  หากจะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง  ท่านว่าต้องส่งมอบกัน ณ สถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อนให้เกิดหนี้นั้น  ส่วนการชำระหนี้โดยประการอื่น  ท่านว่าต้องชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของเจ้าหนี้
          ตัวอย่าง  มรกตมาขอยืมรถยนต์จากบ้านของทับทิมที่อยู่จังหวัดนราธิวาส  เพื่อไปใช้ขับที่บ้านของมรกตที่อยู่ที่กรุงเทพฯ  โดยไม่มีข้อตกลงกันไว้ในเรื่องการส่งคืนรถยนต์  ดังนี้หากต่อมาสัญญายืมระงับลงไม่ว่าด้วยเหตุใด  มรกตก็ต้องนำรถยนต์คันดังกล่าวไปส่งคืนที่บ้านของทับทิมที่จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ซึ่งทรัพย์นั้นได้อยู่ในเวลาเมื่อก่อให้เกิดหนี้นั้น
                        2.1.5  หน้าที่เสียค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สิน  ซึ่งยืม  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  647  ที่ว่า
                   ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น  ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย
                   จากบทบัญญัติตามมาตรานี้เป็นค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปเนื่องจากการบำรุงรักษา
ปกติเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ถ้าไม่มีการตกลงกันไว้ว่าให้ผู้ให้ยืมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย  ผู้ยืมก็จะต้องเป็นผู้เสีย  เช่น หากยืมสัตว์พาหนะมาใช้งาน  ผู้ยืมก็ต้องมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำและค่าอาหารสัตว์  หรือหากยืมรถไปใช้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถนั้นให้อยู่ในสภาพดีและใช้การได้  โดยอาจจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำกลั่น  ถ่ายน้ำมันเครื่อง  เติมลมยาง  เปลี่ยนหัวเทียน  หรืออาจต้องออกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเล็กน้อย  และเมื่อจ่ายไปแล้วผู้ยืมก็จะเรียกคืนจากผู้ให้ยืมไม่ได้ แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่การบำรุงรักษาปกติแต่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษ  กฎหมายในเรื่องยืมไม่ได้มีการบัญญัติไว้ว่าเป็นหน้าที่ของใครที่จะต้องมีหน้าที่เสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว  ซึ่งต่างกับเรื่องการเช่าเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  550  ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าถ้าเป็นการซ่อมแซมใหญ่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบ  แต่ในเรื่องยืมนี้จะนำหลักในเรื่องเช่าทรัพย์มาใช้ก็ไม่ได้  เพราะยืมใช้คงรูปเป็นสัญญาที่ไม่มีค่าตอบแทนดังเช่นสัญญาเช่าทรัพย์ ดังนั้นหากเป็นกรณีทรัพย์ที่ยืมเกิดชำรุดจนถึงขนาดใช้การไม่ได้แล้วผู้ยืมก็ควรจะส่งคืนผู้ให้ยืมไปโดยผู้ยืมเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการส่งคืน  หากผู้ยืมได้เสียค่าใช้จ่ายพิเศษไปโดยไม่มีการตกลงกับผู้ให้ยืมก่อนว่าจะเรียกคืนจากผู้ให้ยืมแล้ว  ดังนี้หากผู้ยืมจ่ายไปแล้วผู้ยืมก็ไม่สามารถเรียกคืนจากผู้ให้ยืมได้แต่อย่างใดเพราะกฎหมายในเรื่องยืมไม่ได้บัญญัติไว้ว่าจะสามารถเรียกคืนจากผู้ให้ยืมได้ 
          ตัวอย่าง  สดยืมรถยนต์เก่าของใสมาขับโดยรถยนต์คันนั้นมีสภาพเกาชำรุดทรุดโทรมตัวถังผุมาก  โช้คอัพของรถยนต์ก็ชำรุดมากต้องเปลี่ยนใหม่  ซึ่งจะต้องใช้เงินมาก  ดังนี้ค่าใช้จ่ายที่เป็นการซ่อมแซมใหญ่ดังกล่าว  ไม่ใช่หน้าที่ของสดผู้ยืมแต่อย่างใด  ดังนี้หากสดเห็นว่าไม่สามารถใช้การต่อไปได้แล้ว  ก็ควรที่จะต้องส่งคืนรถยนต์คันนั้นให้แก่ใสไป  ทั้งนี้เป็นเรื่องของใสผู้ให้ยืมที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง  และหากสดผู้ยืมได้จ่ายไปโดยพลการโดยไม่มีการตกลงกับใสผู้ให้ยืมก่อนว่าจะเรียกคืนจากใสผู้ให้ยืมแล้ว สดผู้ยืมก็ไม่สามารถเรียกคืนจากใสผู้ให้ยืมได้แต่อย่างใดเพราะกฎหมายในเรื่องยืมไม่ได้บัญญัติไว้ว่าจะสามารถเรียกคืนจากใสผู้ให้ยืมได้
          แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องหน้าที่ในการเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น  คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นได้  เช่นอาจมีการตกลงกันว่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมอันเป็นปกติหรือค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาพิเศษ  หรือทั้งสองฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวกันคนละครึ่งก็ได้  ซึ่งหากมีการตกลงกันเช่นนี้ข้อตกลงนี้ก็มีผลบังคับใช้ได้

            2. 2  ความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูป  แยกพิจารณาได้  ดังนี้


                        2.2.1  กรณีทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายไป  ความรับผิดของผู้ยืมใช้คงรูปจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทรัพย์สินที่ยืมนั้นเกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามบทบัญญัติในมาตรา  643  และ  มาตรา  644  ไม่ว่าจะเป็นการเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี  เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี  เอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้   หรือไม่สงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองก็ตาม หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วแม้ความเสียหายนั้นจะเกิดจากเหตุ สุดวิสัย  ผลคือผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายนั้นแก่ผู้ให้ยืม

                        ตัวอย่าง  พลอยยืมรถเก๋งจากเพชรมา  1  คัน  โดยบอกว่าจะขับไปทำธุระที่อยุธยาแต่พอทำธุระที่อยุธยาเสร็จแทนที่จะเอารถเก๋งไปส่งคืนให้กับเพชร  กลับเอารถเก๋งคันนั้นพาครอบครัวไปเที่ยวต่อที่ชลบุรี  แต่ในระหว่างพักค้างคืนที่โรงแรมในจังหวัดชลบุรีเกิดไฟไหม้โรงจอดรถของโรงแรมทำให้รถเก๋งคันดังกล่าวถูกไฟไหม้เสียหายหมด  ดังนี้ผลก็คือแม้ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถเก๋งคันดังกล่าวจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย  แต่พลอยก็ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่เพชรด้วย  ทั้งเพราะพลอยฝ่าฝืนหน้าที่ผู้ยืม  ตามมาตรา  643
                   เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าถึงจะไม่ได้ผิดหน้าที่ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง 
                        ตัวอย่าง  เขียวกับเหลืองอยู่หมู่บ้านเดียวกัน  เขียวให้เหลืองยืมไก่ชนไป  1  ตัวโดยบอกจะนำไปทำเป็นพ่อพันธุ์  แต่กลับให้ดำเพื่อนบ้านยืมต่อโดยดำได้นำไก่ตัวนั้นไปแข่งขันการพนันชนไก่ภายในหมู่บ้านนั้น  ต่อมาหมู่บ้านนั้นเกิดโรคไข้หวัดนกระบาดทำให้ไก่ตายหมดทั้งหมู่บ้าน  ดังนี้ถึงแม้เหลืองผู้ยืมจะผิดหน้าที่ของผู้ยืมแต่เหลืองก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการตายของไก่  ทั้งนี้เนื่องจากเหลืองสามารถพิสูจน์ได้ว่าถึงเหลืองจะไม่ผิดหน้าที่  ไก่นั้นก็ยังคงต้องตายอยู่นั่นเอง
                    แต่ในทางกลับกันหากผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินไปตามปกติไม่ได้ทำผิดหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้ง  2  มาตราดังกล่าวแต่ก็ยังเกิดความเสียหาย  และความเสียหายนั้นก็ไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ยืมด้วยแล้ว  ผลคือผู้ยืมไม่จำต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
                    ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ที่ยืมพอสรุปได้ว่า  อาจเกิดได้ในหลายกรณี ดังนี้
                   1)  ความเสียหายเกิดขึ้นจากผู้ยืม  ที่ผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามมาตรา  653 หรือมาตรา  654   ดังนี้ผู้ยืมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้ยืม  ไม่ว่าจะเป็นการใช้ราคาทรัพย์และค่าเสียหายต่าง
                        ตัวอย่าง  ส้มให้แสดยืมรถยนต์ไปใช้ในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ของแสด  แต่แสดได้เอารถยนต์คันนั้นไปให้สดยืมใช้อีกต่อหนึ่ง  ในขณะที่สดจอดรถยนต์อยู่   เชิงเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทแห่งหนึ่งและได้ลงไปทำธุระในบริเวณนั้น  ได้เกิดแผ่นดินไหวทำให้มีก้อนหินขนาดใหญ่ตกลงมาทับรถยนต์คันดังกล่าวพังเสียหายหมด  ดังนี้แสดผู้ยืมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส้มด้วยแม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ทั้งนี้เพราะว่าถ้าแสดไม่ให้สดยืมรถยนต์ไปใช้  รถยนต์คันนี้ก็จะไม่อยู่ที่เชิงเขาแห่งนั้น และก็จะไม่ถูกก้อนหินหล่นทับเสียหาย
                    2)  ความเสียหายเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยโดยไม่อาจจะโทษผู้ใดได้  ดังนี้ผลคือบาปเคราะห์ต่าง ๆ  ย่อมตกเป็นพับแก่ผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์นั้น
          ตัวอย่าง  ครามให้ฟ้ายืมสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาทไปใช้  1  เส้น   ขณะที่ฟ้าใส่สร้อยคอทองคำเส้นนั้นเดินไปซื้อของที่ตลาด  ได้ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนจี้เอาทองเส้นนั้นไปและได้หลบหนีไปโดยที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมตัวคนร้ายไว้ได้  ทำให้ฟ้าไม่สามารถนำทองเส้นนั้นกลับมาส่งคืนให้กับครามได้เลย  ดังนี้ครามจะมาเรียกร้องให้ฟ้าชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตนไม่ได้เลย  ทั้งนี้เพราะฟ้าไม่ได้ฝ่าฝืนหน้าที่ของผู้ยืมแต่อย่างใด
                    แต่ในกรณีนี้ผู้ให้ยืมอาจป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตนได้โดยอาจทำความตกลงไว้ล่วงหน้ากับผู้ยืมว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ให้ยืมหากว่าทรัพย์สินที่ยืมสูญหายหรือบุบสลายไปเพราะเหตุอย่างใด ๆ  ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม หากมีการทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วก็มีผลให้ข้อตกลงนั้นบังคับใช้ได้  โดยไม่ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด
                        3)  ความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอก  โดยที่ผู้ยืมไม่ได้ผิดหน้าที่ตามมาตรา  653  หรือมาตรา  654  แต่อย่างใด  ดังนี้ผู้ยืมไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ให้ยืมแต่อย่างใด  ผู้ให้ยืมมีหน้าที่ที่จะต้องไปฟ้องร้องเอากับบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดเองโดยตรง
                    คำพิพากษาฎีกาที่  534/2506  จำเลยยืมรถยนต์ของโจทก์ไปตามผู้ร้าย  ระหว่างขับไปตามถนนตามปกติก็มีรถยนต์โดยสารชนท้ายรถยนต์คันนั้นพลิกคว่ำตกข้างทางทำให้รถชำรุดเสียหายใช้ไม่ได้  จำเลยจึงไม่สามารถส่งคืนรถได้  ดังนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์  เพราะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก  จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความเสียหาย  จำเลยใช้รถตามสภาพของการใช้ตามปกติของวิญญูชนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  219 
                   คำพิพากษาฎีกาที่  7416/2548  การยืมใช้คงรูปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะแต่ในกรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  เมื่อไม่ปรากฏเหคุดังกล่าว  และในวันเกิดเหตุจำเลยที่  1  เป็นผู้ขับรถที่ยืมไปเยี่ยมราษฎรในพื้นที่อันเป็นการใช้ทรัพย์ที่ยืมเป็นปกติตามที่ได้ขออนุญาตโจทก์  ทั้งเหตุรถเฉี่ยวชนกันไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่  1  หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่  2  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก  จำเลยที่  1  ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
                   ในกรณีที่บุคคลภายนอกทำความเสียหายจนทำให้ทรัพย์สินที่ยืมสูญหายไป  แต่ถ้าผู้ยืมได้รับทรัพย์สินอื่นมาแทนทรัพย์สินที่ยืมที่สูญหายหรือเสียหายไปจากบุคคลภายนอก  ดังนี้ผู้ยืมก็ต้องมีหน้าที่ส่งมอบทรัพย์สินเหล่านั้นให้แก่ผู้ให้ยืมไปตามหลักช่วงทรัพย์  ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  228  ที่ว่า
                   ถ้าพฤติการณ์ซึ่งทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้นเป็นผลให้ลูกหนี้ได้มาซึ่งของแทนก็ดี  หรือได้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์อันจะพึงได้แก่ตนนั้นก็ดี  ท่านว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ส่งมอบของแทนที่ได้รับไว้หรือจะเข้าเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้
                    ตัวอย่าง  เข้มให้จืดยืมแจกันหยกไปใช้  1  คู่  จืดก็ได้นำแจกันหยกคู่นั้นไปไว้ที่บ้านของตน  ต่อมาจางไปติดต่อธุระที่บ้านของจืดแต่จางประมาทเลินเล่อเดินด้วยความรีบร้อนมือข้างหนึ่งไปปัดถูกแจกันหยกคู่นั้นหล่นลงมาแตกเสียหายหมด  ดังนี้หากจางยอมรับผิดและซื้อแจกันหยกคู่ใหม่ให้จืดไว้  จืดก็ต้องส่งมอบแจกันหยกคู่ใหม่นั้นให้แก่เข้มไปเพราะถือว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาแทนที่ทรัพย์อันเดิม
                        2.2.2  กรณีผู้ยืมไม่ยอมส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม  ดังนี้ในทางแพ่งผู้ให้ยืมสามารถฟ้องเรียกคืนทรัพย์สินที่ยืมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1336)  และนอกจากนั้นผู้ยืมอาจต้องรับผิดในทางอาญาฐานยักยอกได้หากผู้ยืมมีเจตนาทุจริตที่จะเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1554 - 1555/2512  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยยืมทรัพย์ไป  แล้วทุจริตยักยอกเอาไว้เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวเสีย  ย่อมมีความผิดในทางอาญามิใช่เป็นเรื่องยืมทางแพ่งเท่านั้น
                      2.2.3  ในกรณีทรัพย์ที่ยืมได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอก  ผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามหลักในเรื่องละเมิด  เพราะถือว่าผู้ยืมเป็นผู้ครอบครองดูแลทรัพย์นั้น  โดยไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัญญายืมแต่อย่างใด  

            2.3  สิทธิของผู้ยืมในการฟ้องร้องผู้ทำละเมิด  ผู้ยืมจะมีสิทธิฟ้องร้องผู้ทำละเมิดในทรัพย์ที่ยืมมาได้ก็ต่อเมื่อผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมไปโดยผิดหน้าที่  แล้วมีบุคคลภายนอกมาละเมิดทำให้ทรัพย์ที่ยืมเสียหาย  ดังนี้ หากผู้ยืมได้ชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนให้แก่ผู้ให้ยืมซึ่งเป็นเจ้าของไปแล้ว  ผู้ยืมก็มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลภายนอกผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืนได้ตามหลักการรับช่วงสิทธิ  ทั้งนี้เพราะถือว่าผู้ยืมมีหนี้หรือมีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ในฐานะลูกหนี้ที่ผิดหน้าที่ของผู้ยืม ตามมาตรา  643 – 644  แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืมไปตามปกติโดยตนไม่ผิดหน้าที่  แต่มีบุคคลภายนอกมาละเมิดทำให้ทรัพย์ที่ยืมเสียหาย ดังนี้แม้ผู้ยืมจะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์นั้นไปแล้วก็ตาม ผู้ยืมก็ไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าวคืนได้แต่อย่างใด  เป็นหน้าที่ของผู้ให้ยืมที่จะต้องดำเนินการฟ้องร้องเอากับผู้ทำละเมิดเอง  ทั้งนี้เพราะผู้ยืมไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ยืมและไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมแต่อย่างใด 

            คำพิพากษาฎีกาที่  1180/2519  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์โดยละเมิด  แต่ได้ความว่ารถจักรยานยนต์เป็นของน้องโจทก์  โจทก์ยืมมาใช้และเป็นการใช้ตามปกติ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้ค่าซ่อมรถและค่าเสื่อมราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่เกี่ยวกับตัวรถโดยตรง

            คำพิพากษาฎีกาที่  3451/2524  ในการยืมใช้คงรูปนั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  ได้บัญญัติให้ผู้ยืมต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมเฉพาะกรณีผู้ยืมเอาทรัพย์ที่ยืมไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น  หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาหรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย  หรือเอาไปไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้  โจทก์เป็นแต่เพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชนไม่ใช่เจ้าของ  ไม่ปรากฏเหตุดังกล่าวที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืม  และการที่รถคันที่โจทก์ขับได้รับความเสียหายก็ไม่ใช่เกิดจากความผิดของโจทก์  ฉะนั้นโจทก์ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของรถแต่อย่างใด และแม้ว่าโจทก์จะได้ซ่อมแซมรถคันดังกล่าวไปแล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดได้  เพราะการรับช่วงสิทธิจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้คือเจ้าของรถ  ดังนั้น  เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิ  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

            คำพิพากษาฎีกาที่  526/2529  โจทก์ติดต่อซื้อรถยนต์จากบุคคลอื่นมาเพื่อใช้ในราชการโดยโจทก์รับรถมาทดลองใช้ก่อน  จำเลยยืมรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้แล้วเกิดอุบัติเหตุ รถที่ยืมได้รับความเสียหาย  โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญายืมใช้คงรูป  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อรถยนต์ที่จำเลยยืมโจทก์ไปใช้เกิดความเสียหาย  โจทก์จะชำระค่าซ่อมไปแล้วหรือไม่ก็ตามก็ถือว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญายืมใช้คงรูปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  55  โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง  แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643  ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทย์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์
          คำพิพากษาฎีกาที่  6683/2537  โจทก์ยืมรถยนต์ผู้อื่นมาใช้แล้วถูกจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์มาชนท้ายรถคันที่โจทก์ยืมเสียหาย  แม้มาตรา  647  จะบัญญัติว่าค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติและการบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืมนั้น  ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย  ก็มีความหมายเพียงว่าผู้ยืมต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติในการบำรุงรักษาทรัพย์สินยืมอันเป็นปกติของการใช้ทรัพย์สินที่ยืมเท่านั้น  มิใช่กรณีอันเกิดจากการถูกกระทำละเมิดซึ่งเป็นเหตุอันผิดปกติที่มีมาตรา 420  และ  438  วรรคสอง  บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดไว้แล้ว  โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์คันที่จำเลยทำให้เสียหาย  โจทก์มิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิด  จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

3.  การสิ้นสุดของสัญญายืมใช้คงรูป

          สัญญายืมใช้คงรูปสิ้นสุดได้หลายกรณี  ดังนี้
            3.1  สิ้นสุดโดยเหตุผู้ยืมตาย  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า  สัญญายืมใช้คงรูปเป็นสัญญาที่มุ่งคำนึงถึงคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้ยืมเท่านั้น  ดังนั้นเมื่อผู้ยืมตายสัญญายืมก็ระงับไปทันทีโดยทายาทของผู้ยืมไม่มีสิทธิได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้นอีกต่อไป  ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  648  ที่ว่า
          อันการยืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม
          ตัวอย่าง  เหลืองให้เขียวยืมเรือไปใช้  1  ลำ  เป็นเวลา  3  ปี   แต่พอยืมไปได้เพียงแค่  6  เดือน  เขียวถึงแก่ความตาย  ดังนี้ทายาทของเขียวก็ต้องคืนเรือลำดังกล่าวให้แก่เหลืองไปทันที  โดยทายาทของเขียวจะไม่ยอมส่งคืนโดยอ้างว่าสัญญายืมยังไม่ครบกำหนด  3  ปีไม่ได้ 
          แต่ทั้งนี้สัญญายืมจะระงับไปเฉพาะความตายของผู้ยืมเท่านั้น  กล่าวคือหากผู้ให้ยืมตายสัญญายืมหาได้ระงับไปด้วยแต่อย่างใดโดยทายาทของผู้ยืมยังคงมีสิทธิใช้สอยทรัพย์สินนั้นอยู่ต่อไปจนกว่าจะสิ้นสัญญา
            ตัวอย่าง  น้ำตาลให้สีเทายืมชุดรับแขกทำด้วยไม้สักไปใช้  1  ชุด  โดยตกลงว่าให้  สีเทายืมใช้ได้  5  ปี  แต่ยืมไปได้เพียง  3  เดือนปรากฏว่าน้ำตาลผู้ให้ยืมถึงแก่ความตายดังนี้  ทายาทของน้ำตาลจะเรียกให้สีเทาคืนชุดรับแขกให้แก่ตนเองทันทีไม่ได้  จะต้องให้สีเทาได้ใช้ชุดรับแขกดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะครบกำหนด 5 ปีตามสัญญาก่อนจึงจะเรียกคืนได้   
          คำพิพากษาฎีกาที่  338/2479  จำเลยยืมเรือของนาย  ก.  ไปใช้โดยมีข้อตกลงว่ายืมกันตลอดอายุของจำเลยผู้ยืมเมื่อผู้ให้ยืมตายผู้รับมรดกยังไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์ที่ให้ยืมคืน

            3.2  สิ้นสุดโดยเหตุที่ผู้ยืมส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม  การคืนทรัพย์สินของผู้ยืมนั้นอาจเป็นการ  คืนเมื่อครบกำหนด  คืนเมื่อใช้เสร็จ  คืนก่อนครบกำหนด  หรือส่งคืนเพราะผู้ให้ยืมเรียกคืนทรัพย์ที่ยืม  ไม่ว่าจะส่งคืนเพราะเหตุใด  ก็มีผลทำให้สัญญายืมนั้นระงับไปได้ทั้งสิ้น
         3.3  สิ้นสุดโดยเหตุที่ทรัพย์อันเป็นวัตถุของสัญญาสูญหายหรือบุบสลายไปจนหมดสิ้น  หากตัวทรัพย์อันเป็นวัตถุในการชำระหนี้ได้สูญหายหรือบุบสลายไป  ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของผู้ใดหรือเนื่องจากเหตุใดก็มีผลทำให้สัญญายืมนั้นระงับสิ้นไปโดยปริยายด้วย  แต่ในเรื่องการสูญหายหรือบุบสลายไปของวัตถุที่ใช้ในการชำระหนี้นั้นหากปรากฏว่าเป็นความผิดของผู้ยืม  ผู้ยืมก็ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น  แต่ถ้าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นโดยไม่อาจจะโทษผู้ใดได้และผู้ยืมไม่ได้ผิดหน้าที่ตามมาตรา 643 – 644  แล้ว  ดังนี้ย่อมตกเป็นพับแก่เจ้าของทรัพย์นั้นไป 
          ตัวอย่าง  มืดให้หมอกยืมหนังสือไป  1  เล่ม  ต่อมาในระหว่างที่ยืมเกิดไฟฟ้าลัดวงจรทำให้บ้านของหมอกถูกไฟไหม้เสียหายหมดทั้งหลังรวมทั้งหนังสือที่ยืมมืดไปก็ถูกไฟไหม้หมดเช่นกัน  ดังนี้ถือว่าทรัพย์นั้นสูญหายหมดไปแล้ว  จึงทำให้สัญญายืมระงับไป

          3.4  สิ้นสุดโดยเหตุมีการบอกเลิกสัญญา  หากผู้ยืมผิดหน้าที่ตามมาตรา  643 หรือ มาตรา 644  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญายืมนี้ผู้ให้ยืมสามารถบอกเลิกได้ทันทีที่ทราบว่าผู้ยืมผิดหน้าที่แม้จะยังไม่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืมก็ตาม  และเมื่อบอกเลิกแล้วผู้ให้ยืมก็มีสิทธิเรียกทรัพย์สินที่ยืมคืนได้  ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  645  ที่ว่า
          ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา  643  นั้นก็ดี  หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความในมาตรา  644  ก็ดี  ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
          ซึ่งการปฏิบัติในการบอกเลิกสัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาตามมาตรานี้ จะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน  บรรพ  1  และ  บรรพ 2  แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

4. อายุความ

          อายุความการใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญายืมใช้คงรูปนั้นมีกำหนดระยะเวลา  ดังนี้
            4.1  อายุความเรียกค่าทดแทน  กรณีผู้ยืมผิดสัญญาที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643,  มาตรา  644  และมาตรา  647  แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ที่ยืม  ดังนี้ผู้ให้ยืมมีสิทธิฟ้องร้องค่าเสียหายดังกล่าวได้  ภายในอายุความ  6  เดือน ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  649  ดังนี้
          ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
          การทำผิดหน้าที่ของผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  643, มาตรา  644  และ  ม.  647  ได้แก่  ใช้สอยทรัพย์สินไม่ถูกต้อง  หรือไม่สงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม  หรือไม่เสียค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินที่ยืม  แล้วทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ยืม  เช่น  ค่าเสียหายเกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์ที่ยืม  ดังนี้คู่สัญญาจะฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหายได้ ภายในระยะเวลา  6  เดือน  นับแต่วันสิ้นสัญญายืมนั้น 
          อนึ่ง  อายุความ  6  เดือน  ใช้ได้ทั้งกรณีผู้ยืมและผู้ให้ยืมที่เป็นโจทก์  ซึ่งต่างกับสัญญาเช่าทรัพย์ตามมาตรา  563  ที่มีอายุความ  6  เดือนเหมือนกัน  แต่อายุความดังกล่าวใช้ได้แต่เฉพาะผู้ให้เช่าเท่านั้น  

          4.2  อายุความเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีละเมิด  อายุความในการฟ้องร้องก็ต้องเป็นไปตามหลักในเรื่องละเมิด คือ ต้องฟ้องร้องภายในกำหนด  1  ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน  หรือภายใน  10  ปีนับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  448

            4.3  อายุความเรียกคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืม  อายุความในเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ดังนั้นจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/30  หรือมาตรา  164  เดิม  คือ  มีอายุความ  10  ปี
          คำพิพากษาฎีกาที่  785/2476  จำเลยยืมทองคำหนัก  25  บาทของโจทก์ไปจำนำโดยสัญญาว่าอย่างช้าปีเดียวจะไถ่คืนให้  ครบกำหนดโจทก์ไปขอคืน  จำเลยขอผัด  ต่อมาจำเลยผ่อนใช้ราคาทองคำให้โจทก์  2  ครั้ง  โดยจำเลยว่าผู้รับจำนำเอาทองคำเป็นสิทธิเพราะเกินกำหนดไถ่  ดังนี้จะยกมาตรา  649  มาปรับคดีไม่ได้โดยเป็นบทบังคับสำหรับการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในเมื่อของที่ยืมชำรุดเสียหาย  ไม่ใช่สำหรับการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนและการผ่อนใช้ราคาทองเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาฎีกาที่  2589/2526  อายุความตามมาตรา  649  เป็นกรณีฟ้องให้รับผิดเพื่อค่าเสียหายค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป  เช่น  ค่าเสียหายกันเกี่ยวกับการชำรุดหรือเสื่อมราคาเนื่องจากการใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม  ในกรณีฟ้องรียกคืนหรือใช้ราคาทรัพย์สินที่ยืมไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้  จึงต้องปรับด้วยมาตรา  164  เดิม  คือมีอายุความ 10  ปี
            คำพิพากษาฎีกาที่  566/2536  มาตรา  649  เป็นอายุความในเรื่องความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูป  เช่น  เรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับความชำรุดหรือเสื่อมราคาจากการใช้ทรัพย์สินที่ให้ยืม  แต่ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกคืนลังไม้หรือราคาลังไม้ซึ่งจำเลยที่  1  ยืมไปพร้อมผลิตภัณฑ์ขวดแก้วซึ่งโจทก์ขายให้จำเลยที่  1 ตามสัญญาซื้อขาย  และจำเลยที่  1  ปฏิบัติกับโจทก์ตลอดมาตั้งแต่มีการซื้อขายกัน  จึงนำมาครา  649  มาบังคับไม่ได้  ต้องใช้อายุความ  10  ปี  ตามมาตรา  164  (เดิม)
          กรณีผู้ให้ยืมที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืมนอกจากจะมีสิทธิฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินคืนภายใน  10  ปี  แล้วยังมีสิทธิที่จะติดตามเอาทรัพย์สินของตนจากผู้ที่ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์นั้นได้โดยไม่มีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1336  ถ้าหากยังไม่มีการครอบครองปรปักษ์ในทรัพย์นั้น  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1382



                [1] สุธีร์  ศุภนิตย์ , คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์วิชาเอกเทศสัญญา  2  ยืม และฝากทรัพย์  ฉบับพิมพ์ครั้งที่  3  (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)  2548,  หน้า 43
            1  ตัวอย่างของท่านอาจารย์พจน์  บุษปาคม , คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิยช์  ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ , (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์นิติบรรณการ)  2521,  หน้า 40

            1  ไผทชิต  เอกจริยกร , คำอธิบายกฎหมายยืม ฝากทรัพย์ พิมพ์ครั้งที่ 6 แก้ไขเพิ่มเติม กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วิญญูชน  2547 , หน้า 33
            2  ปัญญา  ถนอมรอด,  คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  ว่าด้วย  ยืม  ค้ำประกัน  จำนอง  จำนำ  กรุงเทพมหานคร  :  สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา   2550.  ,  หน้า  9 

13 ความคิดเห็น:

  1. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

      ลบ
    2. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

      ลบ
    3. ไม่มีข้อมูลของ ยืมใช้สิ้นเปลือง บ้างหรอค่ะ ?รบกวนหน่อยนะค่ะ :)

      ลบ
  3. ได้รับความรู้มากเลยคะ ขอบคุณคะ

    ตอบลบ
  4. เขียนเข้าใจง่าย ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  5. อัพความรู้ทางกฏหมายต่อเรื่องๆนะคะ ^^

    ตอบลบ
  6. อ่านแล้วเข้าใจ Thank you kub

    ตอบลบ
  7. อัพเพิ่มอีกเรื่อยๆนะคับ

    ตอบลบ
  8. รบกวนอัพความรู้เรื่อยๆนะครับ :)

    ตอบลบ